วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ
     อาณาจักรอยุธยามักส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีนเป็นประจำทุกสามปี เครื่องบรรณาการนี้เรียกว่า "จิ้มก้อง" นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าการส่งเครื่องราชบรรณาการดังกล่าวแฝงจุดประสงค์ทางธุรกิจไว้ด้วย คือ เมื่ออาณาจักรอยุธยาได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายแล้วก็จะได้เครื่องราชบรรณาการกลับมาเป็นมูลค่าสองเท่า  ทั้งยังเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง จึงมักจะมีขุนนางและพ่อค้าเดินทางไปพร้อมกับการนำเครื่องราชบรรณาการไปถวายด้วย

     พ.ศ. 2054 ทันทีหลังจากที่ยึดครองมะละกา โปรตุเกสได้ส่งผู้แทนทางการทูต นำโดย ดูอาร์เต เฟอร์นันเดส (Duarte Fernandes) มายังราชสำนักสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 หลังได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรระหว่างราชอาณาจักรโปรตุเกสและราชอาณาจักรอยุธยาแล้ว ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสก็ได้กลับประเทศแม่ไปพร้อมกับผู้แทนทางทูตของอยุธยา ซึ่งมีของกำนัลและพระราชสาส์นถึงพระเจ้าโปรตุเกสด้วย  ผู้แทนทางการทูตโปรตุเกสชุดนี้อาจเป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยก็เป็นได้ ห้าปีให้หลังการติดต่อครั้งแรก ทั้งสองได้บรรลุสนธิสัญญาซึ่งอนุญาตให้โปรตุเกสเข้ามาค้าขายในราชอาณาจักรอยุธยา สนธิสัญญาที่คล้ายกันใน พ.ศ. 2135 ได้ให้พวกดัตช์มีฐานะเอกสิทธิ์ในการค้าข้าว

     ชาวต่างชาติได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่ราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ทรงมีทัศนะสากลนิยม (cosmopolitan) และทรงตระหนักถึงอิทธิพลจากภายนอก ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์ที่สำคัญกับญี่ปุ่น บริษัทการค้าของดัตช์และอังกฤษได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงงาน และมีการส่งคณะผู้แทนทางการทูตของอยุธยาไปยังกรุงปารีสและกรุงเฮก ด้วยการธำรงไว้ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ ราชสำนักอยุธยาได้ใช้ดัตช์คานอำนาจกับอังกฤษและฝรั่งเศสอย่างชำนาญ ทำให้สามารถเลี่ยงมิให้ชาติใดชาติหนึ่งเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป

     อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2207 ดัตช์ใช้กำลังบังคับเพื่อให้ได้สนธิสัญญาที่ให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เช่นเดียวกับการเข้าถึงการค้าอย่างเสรี คอนสแตนติน ฟอลคอน นักผจญภัยชาวกรีกผู้เข้ามาเป็นเสนาบดีต่างประเทศในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กราบทูลให้พระองค์หันไปพึ่งความช่วยเหลือจากฝรั่งเศส วิศวกรฝรั่งเศสก่อสร้างป้อมค่ายแก่คนไทย และสร้างพระราชวังแห่งใหม่ที่ลพบุรี นอกเหนือจากนี้ มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามามีบทบาทในการศึกษาและการแพทย์ ตลอดจนนำแท่นพิมพ์เครื่องแรกเข้ามาในราชอาณาจักรด้วย พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงสนพระราชหฤทัยในรายงานจากมิชชันนารีที่เสนอว่า สมเด็จพระนารายณ์อาจเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ได้

     อาณาจักรอยุธยามีความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกในด้านการค้าขายและการเผยแผ่ศาสนา โดยชาวตะวันตกได้นำเอาวิทยาการใหม่ ๆ เข้ามาด้วย ต่อมา คอนสแตนติน ฟอลคอนได้เข้ามามีอิทธิพลและยัง บรรดาขุนนางจึงประหารฟอลคอนเสีย และลดระดับความสำคัญกับชาติตะวันตกตลอดช่วงเวลาที่เหลือของอาณาจักรอยุธยา
               

     อย่างไรก็ดี การเข้ามาของฝรั่งเศสกระตุ้นให้เกิดความแค้นและความหวาดระแวงแก่หมู่ชนชั้นสูงของไทยและนักบวชในศาสนาพุทธ ทั้งมีหลักฐานว่าคบคิดกับฝรั่งเศสจะยึดกรุงศรีอยุธยา  เมื่อข่าวสมเด็จพระนารายณ์กำลังจะเสด็จสวรรคตแพร่ออกไป พระเพทราชา ผู้สำเร็จราชการ ก็ได้สังหารรัชทายาทที่ทรงได้รับแต่งตั้ง คริสเตียนคนหนึ่ง และสั่งประหารชีวิตฟอลคอน และมิชชันนารีอีกจำนวนหนึ่ง การมาถึงของเรือรบอังกฤษยิ่งยั่วยุให้เกิดการสังหารหมู่ชาวยุโรปมากขึ้นไปอีก พระเพทราชาเมื่อปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ทรงขับชาวต่างชาติออกจากราชอาณาจักร รายงานการศึกษาบางส่วนระบุว่า อยุธยาเริ่มต้นสมัยแห่งการตีตัวออกห่างพ่อค้ายุโรป ขณะที่ต้อนรับวาณิชจีนมากขึ้น แต่ในการศึกษาปัจจุบันอื่น ๆ เสนอว่า สงครามและความขัดแย้งในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นเหตุให้พ่อค้ายุโรปลดกิจกรรมในทางตะวันออก อย่างไรก็ดี เป็นที่ประจักษ์ว่า บริษัทอินเดียตะวันออกของดัตช์ยังทำธุรกิจกับอยุธยาอยู่ แม้จะประสบกับความยากลำบากทางการเมือง

           ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน

 ความสัมพันธ์กับสุโขทัยและล้านนา

               ความสัมพันธ์ที่อยุธยามีต่อสุโขทัยและล้านนา   ซึ่งเป็นอาณาจักรคนไทยด้วยกัน  ขึ้นอยู่กับนโยบายและพระปรีชาสามารถของกษัตริย์แต่ละรัชกาลเป็นสำคัญ 

                ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1  (ขุนหลวงพะงั่ว)   ทรงมีนโยบายที่จะรวบรวมอาณาจักรสุโขทัยให้อยู่ในอำนาจอยุธยาให้จงได้  จึงยกทัพไปรุกรานสุโขทัยถึง  5   ครั้ง  เริ่มตั้งแต่  พ.ศ. 1914 เป็นต้นมา  ในทีสุดก็ดีเมืองชากังราวของสุโขทัยได้สำเร็จใน พ.ศ. 1921  เป็นผลให้สุโขทัยตกเป็นประเทศราชของอยุธยาอยู่  10  ปี

            พ.ศ. 1962   สุโขทัยเกิดจลาจลชิงราชสมบัติกัน  สมเด็จพระอินทราชา (เจ้านครอินทร์)  แห่งกรุงศรีอยุธยา  เสด็จไประงับการจลาจล  และได้ทรงขอพระราชธิดาของพระมหาธรรมราชาที่ 3  (ไสยลือไทย) อภิเษกสมรสกับเจ้าสามพระยา  พระราชโอรสของพระองค์  นับเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างเครือญาติโดยการอภิเษกสมรสในระหว่างราชวงศ์ของทั้งสองอาณาจักร  จนถึงสิ้นรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 4 (บรมปาล)   ของสุโขทัย  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2  (เจ้าสามพระยา)  จึงส่งให้พระราเมศวรพระราชโอรส  ซี่งมีพระราชชนนีเป็นพระราชธิดาพระมหาธรรมราชาที่ 3  (ไสยลือไทย)  แห่งกรุงสุโขทัยขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก  เมื่อ พ.ศ. 1981  และผนวกสุโขทัยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

            สำหรับล้านนา (เชียงใหม่)  สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1  (ขุนหลวงพะงั่ว)   ยกทัพไปตีเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 1921  แต่ไม่สำเร็จ จนถึง  พ.ศ. 1935  ในรัชสมัยสมเด็จพระราเมศวร  จึงสามารถตีล้านนาได้

            ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  อยุธยากับล้านนาทำสงครามกันหลายครั้ง   แต่ไม่แพ้ชนะกันโดยเด็ดขาด  ต่อมาใน พ.ศ. 2065   ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐาธิราช) อยุธยาได้ขอทำไมตรีกับล้านนา

             ครั้นถึงสมัยพระไชยราชาธิราช  ล้านนาตกเป็นประเทศราชของอยุธยา  ระยะนี้ไทยเริ่มทำสงครามกับพม่า  อันเป็นสงครามที่ยึดเยื้อต่อมาถึง 300 ปี และเนื่องจากล้านนาอยู่กึ่งกลางระหว่างอยุธยากับพม่าประกอบกับล้านนาไม่มีกำลังพอที่จะรักษาเอกราชของตนไว้ได้   จึงตกเป็นเมืองขึ้นของไทยและพม่าสลับกันไปมาสุดแต่ว่าฝ่ายใดจะมีอำนาจขึ้น ครั้งสุดท้ายพม่าตีล้านนาได้ใน พ.ศ. 2306   และใช้เป็นฐานกำลังยกมาตีกรุงศรีอยุธยา ทำให้ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2   ใน พ.ศ. 2310

 ความสัมพันธ์กับจีน

                 ไทยมีความสัมพันธ์กับจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  เมื่อสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง  พระมหากษัตริย์และเจ้านายสมัยอยุธยาได้เจริญไมตรีกับจีนสืบต่อมา      นโยบายการเมืองระหว่างประเทศทีอยุธยามีต่อจีนนั้นมีลักษณะในทางให้จีนยอมรับสถานภาพโดยการส่งเครื่องบรรณาการเพื่อเป็นเกราะป้องกันภัย  และประโยชน์ทางการค้า  เนื่องด้วยจีนไม่ยอมติดต่อค้าขายกับประเทศที่ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อจีน  เมื่อทูตของประเทศที่จีนถือว่าอยู่ในอารักขาไปติดต่อด้วย  จะได้รับการต้องรับและได้สิทธิทางการค้า  และเมื่อมีปัญหาทางการเมืองก็พึ่งจีนได้ด้วย

 ความสัมพันธ์กับเขมร

               เมื่อพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี  เป็นช่วงที่เขมร (ขอม)  เสื่อมอำนาจแล้วระยะแรกเขมรและกรุงศรีอยุธยาเป็นไมตรีกัน  ต่อมาเขมรตัดไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาหันไปมีไมตรีกับสุโขทัยแทน พระเจ้าอู่ทองเห็นว่า  ขอมแปรพักตร์   จึงโปรดยกกองทัพไปตีจนเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. 1896 เขมรจึงตกเป็นประเทศของไทยตั้งแต่ครั้งนั้น แต่ฐานะประเทศของเขมรไม่เป็นการถาวร เพราะเขมรพยายามตั้งตนเป็นอิสระอยู่เนืองๆ ไทยต้องยกทัพไปปราบปรามเขมรหลายครั้ง

ความสัมพันธ์กับลาว

              ความสัมพันธ์ระเหว่างอาณาจักรอยุธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุตหรือล้านช้างของลาวนั้น  กล่าวได้ว่ามีไมตรีที่ดีต่อกันมาตั้งแต่เริ่มสร้างกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1891

  ต่อมาอาณาจักรอยุธยามีอำนาจเข้มแข็งขึ้น  เมืองต่างๆ ที่เคยขึ้นกับพม่า  เช่น  มอญ  ลาว  เป็นต้น  ต่างมาอ่อนน้อมขอเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา  โดยทีกรุงศรีอยุธยาไม่ต้องส่งกองทัพเข้ารบพุ่งหรือบีบบังคับแต่อย่างใด  ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวจึงเป็นไปแบบเป็นเมืองพี่เมืองน้องกันมาตลอด (ความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันยืนยงมาจนกระทั่งถึงต้นรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์ตั้งตนเป็นอิสระแต่ทำการไม่สำเร็จ ลาวจึงอยู่ในฐานะเป็นประเทศราชของไทยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลาวจึงตกไปเป็นของฝรั่งเศส)

  ความสัมพันธ์กับพม่า

               เดิมพม่ามิได้มีอาณาเขตติดต่อกับอาณาจักรอยุธยา  เพราะมีประเทศมอญขวางอยู่  และทางเหนือก็มีล้านนากั้นอยู่  พม่านั้นมีที่ตั้งลึกเข้าไปในแผ่นดิน  ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศไม่สะดวก  และผืนดินไม่สมบูรณ์จึงพยายามขยายอาณาเขตมายังดินแดนมอญ  เพราะเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์อยู่ติดทะเล  ไปมาค้าขายกับนานาประเทศได้สะดวก

              สงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่าครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กับ  สมเด็จพระไชยราชาธิราช   สมัยนั้นกรุงศรีอยุธยามีอำนาจครอบคลุมไปถึงหัวเมืองมอญบางแห่งด้วย  เมื่อพระเจ้าตะเบ็งซะเวตี้กษัตริย์พม่าตีกรุงหงสาวดีเมืองหลวงของมอญได้ใน พ.ศ. 2082 ชาวมอญจำนวนมากอพยพหนีมายังเมืองเชียงกรานเมืองประเทศราชของไทย พม่าจึงถือเอาเป็นสาเหตุเข้าตีเมืองเมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราชกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายยกไปตีคืนสำเร็จ แต่การที่พม่าได้หัวเมืองมอญไว้ในอำนาจก็ทำให้พม่ามีเขตแดนติดต่อกับอาณาจักรอยุธยา   และเกิดการประจันหน้ากันแต่บัดนั้นมา

                 การสงครามระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยาแทบทุกครั้งเกิดจากการรุกรานของพม่า  ตลอดสมัยอยุธยามีการทำสงครามกับพม่า  24  ครั้ง  กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายถูกรุกรานแทบทุกครั้ง  มีเพียง  3  ครั้ง  เท่านั้นที่กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายยกไปตีพม่า  คือ  ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีกรุงหงสาวดี  2  ครั้ง  เมื่อ พ.ศ. 2138  และ พ.ศ. 2142  และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีก  1  ครั้ง  เมื่อ พ.ศ. 2207

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น